ฟุตบาทแห่งนั้น เป็นทางเดินริมถนนที่จะมุ่งไปหน้าไปแยกพงษ์เพชร ถัดจากปากซอยวัดบัวขวัญมาไม่ไกล เรียกได้ว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างปากซอยกับห้างดังที่เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ บนเส้นถนนงามวงศ์วาน

ณ ขอบฟุตบาท มีหญิงชรานั่งบนพื้นฟุตบาทอันร้อนระอุ เนื่องด้วยแสงแดดอันร้อนแรงของวันแดดแรงยังไม่จางไอความร้อนไปจากพื้นฟุตบาท หญิงชราจึงต้องใช้ถุงกระสอบปุ๋ยกระดำกระด่างปูรองพื้นก่อนนั่ง

"ช่วยซื้อขนมหน่อยจ้า" เสียงแหบแห้ง เพราะร้องเรียกให้คนที่เดินผ่านไปมาตลอดได้สังเกตเห็น ว่ามีอีกชีวิตนึงอยู่ตรงนั้น

ภาพของหญิงชรากับตระกร้าที่มีถาดขนมถุงใบใหญ่วางอยู่ อาจจะเป็นที่คุ้นเคยของผู้ที่ใช้ถนนสายนี้สัญจรผ่านไปมา แต่จะมีสักกี่คนที่อุดหนุนขนมถุง ถุงละ 20 บาทที่หญิงชรานั่งขาย, จะมีสักกี่คนที่หยุดดูสินค้าแบกะดิน, จะมีสักกี่คนที่คอยหยิบยื่นน้ำใจ และจะีมีสักกี่คนที่ทราบเหตุผลของการนั่งขายขนมของหญิงชราท่านนี้





บุญเยื้อง...สาวเมืองปากน้ำโพ แถมยังพ่วงท้ายตำแหน่ง ลูกสาวกำนัน อีกด้วย ...ในวัยสาวสะพรั่ง เปรียบเช่นดอกไม้บาน ย่อมเป็นที่หมายตาของเหล่าภุมรินทร์ แต่ผู้ที่พิชิตใจหญิงสาวได้ คือ ข้าราชการหนุ่มอนาคตไกล

เมื่อทั้งสองได้ร่วมเรียงเคียงหมอน จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความหอมหวาน สาวบุญเยื้องเป็นแม่ที่มีความสุขกับการเลี้ยงลูกชาย 3 คน และลูกสาว 3 คน ลูกๆ ทั้ง 6 คนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แม้จะไม่มีเงินทองมากมาย แต่ครอบครัวก็มีความสุข

มักมีคำกล่าวว่า "ความสุขอยู่กับเราได้ไม่นาน" ข้อนี้เห็นจะจริง เมื่อบุญเยื้องได้พบสัจจะธรรมของการพลัดพราก อันเนีื่่องด้วยสามีวัย 32 ปีได้จากไปด้วยอุบัติเหตุ ในขณะที่เธอมีอายุเพียง 27 ปี

ภาระเลี้ยงดูลูกทั้งหมดจึงตกหนักอยู่ที่เธอ แต่ความอดทนต่อสู้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้ดี เธอจึงไม่ปริปากบ่น อาบเหงื่อต่างน้ำทำงานหนัก ส่งเสียให้ลูกทั้ง 6 ได้มีวิชาความรู้ ...การค้าขายจึงเป็นอาชีพที่เธอเลือกทำ และทำมาตลอดชีวิต

จนกระทั่งลูกทั้งหมด จบการศึกษาและมีหน้าที่การงานที่ดีทำ บางคนเป็นตำรวจ บางคนเป็นทหาร บางคนก็ทำงานบริษัท แต่ละคนก็กระจัดกระจายไปตั้งครอบครัวของตนเองกัน

ในฐานะ "แม่" ก็ชื่นใจที่เห็นลูกได้ดี

เมื่อล่วงเข้าวัยชรา คุณยายบุญเยื้องมาอาศัยอยู่กับลูกชายที่ จ.นนทบุรี อาจจะเกิดความสงสัย และตั้งคำถาม ว่าเหตุใด คุณยายต้องมานั่งขายของเช่นนี้ ทั้งที่ลูกๆ ก็อยู่ครบถ้วน มีหน้าที่การงานดีดี

"ยายมาขาย เพราะจะหาเงินไปใส่บาตร ยายใส่บาตรพระวันละ 2 องค์ บางวัน อยากเปรี้ยวอยากหวาน ก็มีเงินซื้อกิน ไม่ต้องไปขอเค้า ลูกเค้าก็มีข้าวให้กินน่ะ แต่เค้าไม่ให้เงิน"

โอวววว ...ถึงกับอึ้ง ในคำตอบของยาย

"ทุกเช้า พระมาบิณฑบาตรที่หน้าบ้าน ถ้าไม่มีข้าวใส่ ยายก็ใส่ขนมนี่ล่ะ แล้วก็เงิน 20 บาท"

การทำบุญตามหลักศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก และครั้งนี้ เปิดดวงตาให้เห็นว่า การทำบุญสำคัญเพียงใด ยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่สำคัญว่าทำบุญด้วยเงินเท่าใด แก้วแหวนเงินทองมหาศาลเพียงไหน ...สำคัญที่ "ใจ" เท่านั้น

"ลูกชายที่เป็นตำรวจ เค้าก็บอกไม่ให้ยายทำ บางวันส่งลูกน้องมาจับยาย ยายถามว่า มาจับทำไม ยายหากินสุจริต ถ้าเค้าอาย ก็อย่าบอกใครว่าเป็นแม่ ..."

คุณยายบุญเยื้อง ไปซื้อขนมจากมหานาค นั่งแท็กซี่มาเที่ยวละ 200 บาท บางครั้งถ้าซื้อมาสองสามปี๊ป ก็จะใช้มต่อรถที่สนามหลวง นั่งรถเมล์สาย 70 เพื่อประหยัดสตางค์ ขนมที่ขายก็เป็นจำพวกขนมปี๊ป มานั่งแยกใส่ถุงย่อยขาย ห่อละ 20 บาท

ช่วงเช้าหลังจากใส่บาตร คุณยายจะมานั่งแบ่งขนมใส่ถุง บางครั้งก็มีหลานชายตัวน้อยอายุ 13 มาช่วย ทำให้ยายได้มีโอกาสนอนเอนหลัง เพื่อเตรียมตัวออกขายเวลาบ่ายสอง

พอได้เวลา รถตุ๊กตุ๊กเจ้าประจำก็จะมารับ ในสนนราคา ไป-กลับ 40 บาท และมาส่่งคุณยาย ณ จุดเดิม ช่วงเวลานั้น ก็ยังถือว่าแดดร้อนมาก น่าแปลกใจที่ยายยังแข็งแรง ไม่เป็นลมแดดไปซะก่อน

หรือเพราะว่า บุญที่ทำ...

ช่่วงเวลาที่ขายก็ไม่มากนัก ประมาณ 7 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายสาม ถึงสามทุ่ม กลุ่มลูกค้าที่น่าจะอุดหนุนคุณยาย น่าจะเป็นเด็กที่เรียนพิเศษ The brain ที่เป็นตึกใหญ่โต มีนักเรียนเป็นร้อยเดินเข้าออก แต่กลับตรงกันข้าม

"เด็กๆ จะเดินไปที่ 7-11 โน่น ซื้อพวกขนมถุงกรุบกรอบ" คุณยายบ่ายหน้ามองไปทางหน้าปากซอยวัดบัวขวัญ ที่ตั้งของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านคงไม่คิดว่าคุณยายเป็นคู่แข่งทางการค้า และแน่ล่ะคุณยายคงไม่คิดเช่นกัน แต่ก็เป็นสัจจะธรรม ปลาใหญ่ย่อมกินปากเล็ก

รายได้ของคุณยายไม่แน่นอน บางวันก็ร้อยกว่า ถ้าขายเฉลี่ยต่อวันก็ประมาณสองสามร้อย ถ้าขายดีมากอยู่ประมาณห้าหกร้อย ซึ่งคุณยายก็จะรวบรวมเงินไปทำทุนซื้อขนมเพื่อมาขายต่อ

"ยายเก็บไว้ซื้อขนมมาขายต่อ ทุนเรามีแค่นี้ บางทีก็ให้หลานบ้าง แต่ไม่ให้เดือดร้อนลูก เงินคนแก่ที่รัฐเค้าให้เดือนละ 500 ยายก็ไม่ได้ บ้านยายอยู่นครสวรรค์ ลูกเค้าไม่พาไป เค้าว่าจะให้เอง แล้วเค้าก็ให้มาร้อยนึง"

คุณยายบุญเยื้อง ในวัย 80 ที่แม้จะยังมีสุขภาพแข็งแรง แต่หูก็รับเสียงได้น้อย ตาก็ฝ้าฟาง แม้ "ใจ" ยังไหว แต่ก็ไม่รู้ว่าวันใด ที่ร่างกายจะหมดสภาพ

ด้วยจิตกุศล ความตั้งใจที่จะทำนุบำรุงศาสนา ทำให้ยายบุญเยื้อง ยังไม่ยอมเลิกทำงาน...

แม้ว่าลูกๆ จะห้ามทำงานนี้ แต่ความมุ่งมั่นของคุณยายก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมคำทิ้งท้าย ...กินใจ

"ยายยังทำงานได้ หาเงินได้ เอาขนมมาแลกเงิน ไม่ได้มานั่งขอทาน มันเป็นความภูมิใจ"






บทความนี้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อ อยากให้มีคนรับรู้ และช่วยเหลือ ...น้ำใจยังไม่หมดไปจากสังคมไทย

Comments (0)